หากใครเป็น “มนุษย์เงินเดือน” คงต้องเคยได้ยินคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เพราะตอนเริ่มงานที่บริษัทใหม่ทีไร HR ก็จะมีแบบฟอร์มมาให้เรากรอกสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเสมอ 

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร?

      กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ เงินกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ให้ลูกจ้างได้มีหลักประกันทางการเงินตอนเกษียณอายุ ตอนลาออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ผ่านกฎหมายที่ออกขึ้นมา เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างควรจะได้รับ ซึ่งเรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” โดยเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ

 

       1.เงินสะสมที่มาจากลูกจ้าง คือ เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน โดยเงินส่วนนี้จะถูกหักจากเงินค่าจ้าง ตามอัตรากำหนดในข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราต่ำสุด 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง

          2.เงินสมทบที่มาจากนายจ้าง คือ เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราต่ำสุด 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง   ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง เช่น ถ้าเราส่งเงินสะสมเข้ากองทุน 5% นายจ้างจะต้องจ่ายสมทบไม่ต่ำกว่า 5% เช่นกัน นอกจากนี้ บางบริษัทอาจมีข้อกำหนดในการจ่ายเงินสมทบในอัตราที่มากขึ้นตามอายุงาน เช่น ทำงาน 1 - 5  ปี จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ 50% หรือทำงาน 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ 100% เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทฯ ตามที่ได้ตกลงกันระหว่างบริษัทและลูกจ้าง

 

  ดังนั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ หนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้พนักงานอยากทำงานกับบริษัทนั้นๆ ได้นานมากขึ้น เพราะเปรียบเสมือนหนึ่งในสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้าง เนื่องจากลูกจ้างจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกเดือนนั่นเอง

bank-credit-finance-management-loan-agreement-signing-mortgage-money-credit_335657-3136.jpg

นอกจากนี้ลูกจ้างยังได้รับประโยชน์จากการออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

 

      1. ช่วยสร้างวินัยในการออมเงินโดยปริยาย เพราะเงินสะสมจะถูกหักจากเงินเดือนหรือเงินค่าจ้างโดยอัตโนมัติ

 

      2. ช่วยให้มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ หรือหลังลาออกจากงาน

  

      3. กรณีที่เสียชีวิต เงินกองทุนจะตกเป็นของ “ผู้รับผลประโยชน์” ที่เราระบุไว้ด้วย หากเรามอบผลประโยชน์ให้กับครอบครัว เงินส่วนนี้ก็เปรียบเสมือนหลักประกันทางรายได้ให้กับครอบครัวนั่นเอง

 

       4. สามารถนำเงินสะสมในกองทุนไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ แต่รวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

       5. เงินสะสมที่จ่ายไป จะถูกนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพ ซึ่งก็คือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายให้เราเลือกตามความต้องการ เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นของบริษัทไทย หุ้นของบริษัทต่างประเทศ เป็นต้น และเมื่อเกิดผลกำไรก็จะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกทุกคนในกองทุน ตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุนนั่นเอง

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลาออกจากงานเดิมแล้วต้องทำอย่างไร ? 

 

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า หากเราลาออกจากงานแล้วจะทำอย่างไรกับเงินในกองทุนดี ต้องลาออกจากกองทุนด้วยหรือไม่ หรือต้องจัดการเงินส่วนนี้อย่างไร เรารวมคำตอบไว้ให้แล้ว

 

  1. คงเงินไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม   

แม้ว่าเราจะลาออกจากบริษัทเดิมแล้ว แต่ก็ยังสามารถคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมได้ในระยะเวลาที่กองทุนกำหนดไว้ แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับคนที่ลาออกจากงานไปทำธุรกิจส่วนตัว รวมไปถึงคนที่ยังตัดสินใจเลือกกองทุนในที่ทำงานใหม่ไม่ได้

 

  1. ย้ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่

การโอนเงินย้ายเข้าไปในกองทุนของที่ทำงานใหม่ สามารถทำได้ทันที ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและภาษีใดๆ ด้วย

 

  1. ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  

ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเงินสด แต่การลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องเสียภาษีด้วย หากคุณยังมีอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี 

 

  1. โอนเข้าไปซื้อกองทุนรวม RMF for PVD 

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ลาออกจากงาน แล้วบริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือยังไม่เจอนโยบายกองทุนที่ถูกใจ รวมไปถึงผู้ที่ลาออกจากงานแล้วไปทำธุรกิจส่วนตัว ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ จากการนำเงินออกจากกองทุนก่อนอายุเกษียณ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีจากการคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมด้วย


 

เมื่อไหร่ถึงจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน?

 

     เราสามารถรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนได้เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกเพราะลาออกจากงาน ลาออกจากกองทุน โอนย้ายกองทุน ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ทั้งนี้หากคุณลาออกจากงานหรือลาออกจากกองทุน จะได้รับยกเว้นเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น และต้องเป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปีด้วย หากไม่ตรงตามเงื่อนไขนี้จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม

quitting-job-concept-illustration_114360-2898.jpg

 

 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปรียบเสมือนหลักประกันยามเกษียณของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระทางการเงินให้แก่ลูกหลาน ทั้งนี้การเลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องศึกษานโยบายการลงทุนให้ดีว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ และความเสี่ยงที่เรายอมรับได้หรือไม่ เพราะเราเองก็เปรียบเสมือนผู้ลงทุนรายหนึ่ง ควรทำความเข้าใจในรายละเอียดของกองทุน รวมไปถึงเงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน



ที่มา : https://www.umayplus.com/content/blog/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E/blogdetail?blogid=2023-030000003

โพสต์โดย
โพสต์โดย
Sales Executive
“พี่นุ่น” นุ่นเป็นพนักงานขาย ผู้ให้บริการโปรแกรมสำหรับ HR ซึ่งบริการอย่างสุดพิเศษเสมือนลูกค้าดุจดั่งพระเจ้า และเต็มใจให้บริการอย่างรวดเร็วในทุกช่องทาง ลูกค้าต้องการอะไรบอกนุ่นได้ นุ่นจัดการให้ เมื่อมีเวลาว่างนุ่นมักจะเข้าป่าไปสัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสหมอก สูดอากาศบริสุทธิ์ และนอนดูทางช้างเผือก