"พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ พ.ศ. 2566 ได้ปรับปรุงกฎหมายแรงงานเดิมให้เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น เพิ่มมาตรา 23/1 ให้นายจ้างสามารถตกลงกับลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการ นำงานไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้ โดยในการตกลงอาจมีรายละเอียดอื่นๆ นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดอีกว่า เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่มีการตกลงกันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใดกับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้า และลูกจ้างยังคงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงานต่างๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 18 เมษายน 2566
ประโยชน์ของ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566
- เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง
- เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง
- มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร
- ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิง
สิ่งที่นายจ้างต้องจัดทำ : นายจ้างจัดทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ที่สามารถเข้าถึง และนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง โดยอาจตกลงให้มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง
- วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา
- หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่าง ๆ
- ขอบเขตหน้าที่การทำงานของลูกจ้างและการควบคุม หรือกำกับการทำงานของนายจ้าง
- ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน
หลักการตัดขาดการเชื่อมต่อกับนายจ้าง
เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสาร
ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารกับใครบ้าง
- นายจ้าง
- หัวหน้างาน
- ผู้ควบคุมงาน
- หรือผู้ตรวจงาน
*ยกเว้น ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้า
ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิและอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้างด้วย
ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000028515