หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังวางแผนลาออกจากงานอยู่ แถมงานใหม่ก็ยังหาไม่ได้ เรียกได้ว่าออกไปก็อาจจะยังต้องอยู่ว่าง ๆ รอหางานใหม่ ถ้าคุณยังกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่รู้จะลาออกดีไหม แต่ใจก็ไม่อยากทำงานที่เดิมแล้ว พร้อมเดินหน้าลาออกแบบที่ยังไม่ได้งานใหม่เนี่ยแหละ เราขอบอกว่ายังมีทางออกเรื่องเงินเสมอ เพราะประกันสังคมที่บริษัทหักส่งให้คุณทุกเดือนนั้น มีสิทธิประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด และเมื่อต้องว่างงานหลังตัดสินใจลาออกขึ้นมา กองทุนประกันสังคมก็ยังเป็นที่พึ่งให้คุณได้ด้วยการจ่าย “เงินชดเชยกรณีว่างงาน”
สิทธิประกันสังคมเมื่อลาออกจากงาน
เงินชดเชยกรณีว่างงาน คือ เงินที่รัฐจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีเงื่อนไขและรายละเอียดในการจ่ายเงินชดเชย ดังนี้
- กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 30% ของค่าจ้าง คำนวณจากฐานเงินเดือนจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 90 วันใน 1 ปีปฏิทิน
ตัวอย่าง ผู้ประกันตนมีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะได้เงินชดเชยเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน หรือ ผู้ประกันตนมีฐานเงินเดือน 20,000 บาท ก็จะได้นับเงินชดเชยเดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)
- กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ซึ่งคำนวณจากฐานค่าจ้างจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน ตัวอย่าง ผู้ประกันตนมีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะได้เงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน หรือ ผู้ประกันตนมีฐานเงินเดือน 20,000 บาท ก็จะได้นับเงินชดเชยเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)
ส่วนหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานนี้ ได้แก่
เป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
- ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงานจากที่ทำงานเดิม เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้นก่อน
- หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง
- ต้องมีความสามารถในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้
- ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
- ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
โดยที่ตอนนี้ทางสำนักงานประกันสังคม ได้อนุญาตให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานสามารถยื่นขึ้นทะเบียนว่างงาน รวมถึงรายงานตัวผ่านทางเว็บไซต์ https://unemploy.doe.go.th/welcome สามารถกดเข้าไปลงทะเบียนได้ง่าย ๆ และสะดวกสบายมาก ๆ โดยมีสิ่งที่ต้องใช้ในการขึ้นทะเบียน ดังนี้
1. บัตรประชาชนตัวจริง
2. โทรศัพท์มือถือใช้ยืนยัน
3. ไฟล์สำเนาหน้าแรกบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่มีชื่อผู้ประกันตนและเลขบัญชี โดยเงินชดเชยจะถูกโอนเงินเข้าที่บัญชีนี้
จากนั้นสามารถทำการขึ้นทะเบียนว่างงานได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ลงทะเบียนขอใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (digtal ID) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ด้วยการกรอกข้อมูลบัตรประชาชนและยืนยันตัวตน โดยขั้นตอนนี้ขอให้เตรียมบัตรประชาชนตัวจริงกับโทรศัพท์มือถือไว้ให้พร้อม เพราะต้องกรอกรหัสหลังบัตรประชาชนและยืนยันเบอร์โทรศัพท์มือถือด้วย
2. หลังจากนั้นก็ทำการเข้าสู่ระบบ โดยใช้ User / Password ที่ลงทะเบียน Digital ID เพื่อทำการยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนว่างงานออนไลน์
3. กรอกข้อมูลส่วนตัว สถานะการออกจากงาน
4. เลือกค้นหางานที่ต้องการทำ และสามารถทำการสมัครงานผ่านขั้นตอนนี้ได้เลย
5. หรือถ้าใครจะลาออกมาเป็น Freelance ก็สามารถเลือก “ประกอบอาชีพอิสระ” และระบุอาชีพได้
6. กรอกข้อมูลในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
7. แนบไฟล์สำเนาบัญชีธนาคารเข้าระบบหลังจากนั้นคุณก็ต้องคอยมารายงานตัวออนไลน์ยืนยันสถานะว่างงานของคุณเดือนละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อจะได้ได้รับเงินชดเชยให้ครบทั้ง 3 เดือน หรือถ้าได้งานใหม่ทำแล้ว ก็เข้ามากรอกข้อมูลงานใหม่ของคุณในระบบได้เลย โดยที่ระบบจะมีการแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดรายงานตัว
หากสงสัยว่าขึ้นทะเบียนสำเร็จหรือไม่ หรือตรวจสอบการรายงานตัวและการจ่ายเงินทดแทน ก็สามารถ Log in เข้าระบบเพื่อมาตรวจสอบได้เลย
“นอกจากขึ้นทะเบียนว่างงานแล้ว สำหรับคนที่ลาออกแบบยังไม่มีแพลนจะสมัครงานใหม่เร็ว ๆ นี้ หรือตั้งใจออกมาเป็น Freelance เต็มตัวแต่เสียดายกองทุนประกันสังคมที่ส่งมาช่วงที่ทำงานประจำ เราแนะนำให้สมัครขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพื่อส่งเงินสมทบกองประกันสังคมด้วยตัวเอง ซึ่งจะส่งเดือนละ 432 บาทเท่านั้น สามารถยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามเขตพื้นที่ได้เลย โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องยื่นสมัครด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน เพื่อที่คุณจะยังได้รับสิทธิของผู้ประกันตนต่อไป”
ที่มา : https://www.sso.go.th/